MARS-500 เผย... เดินทางไปดาวอังคารอาจทำให้นอนไม่หลับและขาดสมาธิ

ห้องภายในยานอวกาศจำลองโครงการ MARS-500 (ภาพจาก NewScientist)
เนื่องจากองค์การนาซ่าวางแผนจะส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคารในช่วงปี ค.ศ. 2030 เรื่องของผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อตัวนักเดินทางที่จะต้องท่องไปในอวกาศอันเวิ้งว้างจึงกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์โครงการ MARS-500 ได้เปิดเผยผลการวิจัยว่ามนุษย์อวกาศที่จะเดินทางไปดาวอังคารอาจต้องเผชิญกับการนอนไม่หลับและเสี่ยงต่อการขาดสมาธิในการทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วง
งานวิจัยยังชี้ว่าการจำลองสภาพภายในยานให้คล้ายกับสภาวะที่คุ้นเคยบนโลกเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งต่อความสำเร็จของภารกิจตะลุยดาวอังคาร

โครงการ MARS-500 เป็นความร่วมมือของรัสเซีย ยุโรป และจีน ซึ่งได้มีการสร้างห้องยานอวกาศจำลองที่ Institute of Biomedical Problems (IBMP) กรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย โดยให้อาสาสมัครใช้ชีวิตอยู่ภายในนั้นด้วยทรัพยากรที่จำกัดตัดขาดจากโลกภายนอก 520 วัน และไม่ได้รับแสงจากธรรมชาติเลย นอกจากนี้การสื่อสารระหว่างพวกเขากับสถานีสมมติภาคพื้นดินก็ถูกทำให้ล่าช้าเช่นเดียวกับสถานการณ์จริงด้วย พวกเขาจะต้องทำการทดสอบต่าง ๆ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น ทดสอบปฏิกิริยาตอบสนอง หรือวัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทั้งหมดก็เพื่อศึกษา/เก็บข้อมูลไว้ใช้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการเดินทางไปดาวอังคารต่อไป

อย่างไรก็ตามยานอวกาศจำลองในโครงการ MARS-500 ไม่ได้อยู่ภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก และไม่ได้มีการจำลองรังสีแบบเดียวกับที่นักบินอวกาศจริงต้องเผชิญ


เรียบเรียงจาก: Focus Magazine (March 2013)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น