เรื่องราวของดาวเคราะห์น้อย



“ดาวเคราะห์น้อย (asteroid)” คือก้อนหินอวกาศที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วระบบสุริยะ ส่วนมากจะอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีตรงบริเวณที่เรียกว่า “แถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt)” ก้อนหินอวกาศเหล่านี้คือเศษซากที่หลงเหลือจากการก่อตัวของระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์สนใจที่จะศึกษาและเฝ้าสังเกตดาวเคราะห์น้อยก็เพราะนอกจากพวกมันอาจเป็นภัยคุกคามต่อโลกแล้ว... ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ยังอาจช่วยเปิดเผยเรื่องราวสำคัญของระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มได้

ก้อนหินอวกาศภายในระบบสุริยะมีขนาดแตกต่างกันตั้งแต่เส้นผ่านศูนย์กลางเพียงไม่กี่เมตรไปจนถึงดาวเคราะห์น้อย Ceres ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 950 กิโลเมตร [1] อย่างไรก็ตามขนาดปรากฏของดาวเคราะห์น้อยจะเล็กมากเมื่อสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์บนโลก จนบางครั้งยากต่อการตรวจพบ

องค์การนาซ่าได้แบ่งดาวเคราะห์น้อยออกเป็น 3 กลุ่มตามแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบ คือ ประเภท C-type (คาร์บอน), S-type (สารประกอบซิลิกา), และ X-type (ธาตุต่าง ๆ ปะปนกัน) กว่า 75 เปอร์เซ็นต์คือประเภท C-type ซึ่งเคลื่อนที่บริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยรอบนอก พวกมันมีสีทึบหรือมองดูมืดที่สุด (สะท้อนแสงได้น้อยมาก) และแทบจะไม่มีองค์ประกอบของธาตุเบา เช่น ฮีเลียม หรือไฮโดรเจน ส่วนอีก 17 เปอร์เซ็นต์คือประเภท S-type ซึ่งมองดูเป็นสีเทา (สะท้อนแสงปานกลาง) พบได้ทั่วไปบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยชั้นใน และที่เหลือคือประเภท X-type โดยจะมองดูสว่างที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์น้อยทั้ง 3 ประเภท (สะท้อนแสงได้มากสุด)

ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่เคลื่อนที่อยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี บางส่วนถูกรบกวนด้วยแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดี หรือชนกันเองทำให้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลก นักดาราศาสตร์แบ่งดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกออกเป็น 3 ชนิด ชนิดแรกคืออามัวส์ Amors ซึ่งเคลื่อนที่อยู่ภายในวงโคจรของดาวอังคาร (หรืออาจตัดวงโคจรของดาวอังคาร) แต่ยังอยู่นอกวงโคจรของโลก ชนิดที่ 2 คืออพอลโลส์ Apollos ซึ่งมีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลก มีระยะกึ่งแกนเอกมากกว่า 1 AU ส่วนชนิดที่ 3 คือเอเธนส์ (Atens) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดผ่านวงโคจรของโลกเช่นเดียวกับชนิดอพอลโลส์ แต่มีความยาวครึ่งแกนเอกน้อยกว่า 1 AU องค์การอวกาศจากทั่วโลกได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยทั้ง 3 ชนิดนี้หลายพันดวงด้วยกันในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยดวงเล็กก็มีศักยภาพในการทำลายล้างสูง ย้อนกลับไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อน วัตถุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 10 กิโลเมตรจากห้วงอวกาศได้พุ่งชนแมกซิโกเป็นเหตุให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชาวรัสเซียกว่าร้อยคนได้รับบาดเจ็บเนื่องมาจากก้อนหินอวกาศขนาดเพียง 17 เมตรที่เกิดระเบิดในชั้นบรรยากาศโลก

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราคงมีความเข้าใจดาวเคราะห์น้อยมากยิ่งขึ้น ยานอวกาศภายใต้โครงการ Dawn Mission ได้ทำการสำรวจดาวเคราะห์น้อย Vesta ในปี ค.ศ. 2011 ขณะนี้ยานดังกล่าวอยู่ระหว่างการเดินทางสู่ดาวเคราะห์น้อย Ceres และในปี 2016 ยานสำรวจ OSIRIS-REx จะเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย 1999 RQ36 (ชนิดอพอลโลส์) และทำการเก็บตัวอย่างพื้นผิวกลับมาทำการวิเคราะห์ในห้องแลปบนโลกภายในปี 2023 นอกจากนี้ดาวเคราะห์น้อยยังเป็นความท้าทายสำหรับหลาย ๆ องค์กรที่จะบุกเบิกธุรกิจทำเหมืองแร่อีกด้วย [2]

[1] Ceres คือดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่สุดในระบบสุริยะเท่าที่มีการค้นพบ ณ ปัจจุบัน

เรียบเรียงจาก: www.spaceanswers.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น