น่าซ่ายืนยัน! ไปดาวอังคารเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

Credit: NASA 
ล่าสุดทีมนักวิจัยนาซ่าได้วิเคราะห์ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัด RAD (Radiation Assessment Detector) ซึ่งถูกติดตั้งไว้กับหุ่นสำรวจ Curiosity [1] โดยพบว่าระหว่าง 253 วันของการเดินทางสู่ดาวอังคาร รังสีที่ RAD ตรวจจับได้นั้นเกินขีดความปลอดภัย ทำให้แผนของนาซ่าที่จะส่งมนุษย์อวกาศไปยังดาวอังคารไม่เกินปี 2039 ต้องถูกทบทวนใหม่ 

ผลวิเคราะห์ได้เน้นย้ำว่ารังสีที่ต้องเผชิญมีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือรังสี (อนุภาคพลังงานสูง) จากพายุสุริยะ (solar storm) ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ RAD ตรวจพบช่วงที่ปริมาณรังสีพุ่งสูงอย่างกระทันหัน 5 ครั้ง โดยมีสาเหตุมาจากเปลวสุริยะ (solar flare) อย่างไรก็ตามแม้ว่ารังสีชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์อวกาศ แต่มันก็มีปริมาณเพียง 5% ของรังสีทั้งหมดเท่านั้น 

ปัญหาหลักกว่า 95 % ซึ่ง RAD ตรวจจับได้คือรังสีคอสมิกที่มาจากนอกระบบสุริยะ (Galactic Cosmic Rays: GCRs) ซึ่งคืออนุภาคพลังงานสูงที่ถูกเร่งจากกระบวนการอื่นภายในกาแลกซี่ทางช้างเผือกของเรา [2] อนุภาคเหล่านี้เกิดจากซากการระเบิดของดาวที่ตายแล้ว (supernova remnants) [3] และมีพลังงานสูงกว่าอนุภาคที่ปลดปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์มาก นอกจากนี้รังสีคอสมิกยังมีอยู่สม่ำเสมอ... ในทุก ๆ วัน พวกมันจะพุ่งชนยานอวกาศหรือแม้แต่มนุษย์อวกาศเกือบตลอดเวลา 

เมื่อลองคำนวนปริมาณรังสีที่มนุษย์อวกาศจะได้รับหากเดินทางไปดาวอังคาร (สมมติว่าใช้เวลาเดินทางใกล้เคียงกับ Curiosity) ปริมาณรังสีที่พวกเขาจะได้รับภายใน 6 เดือนจะสูงกว่าที่มนุษย์บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ได้รับถึง 3 เท่า (กราฟที่ 1) ยิ่งเมื่อพิจารณาการเดินทางไป-กลับ แน่นอนว่าปริมาณรังสีนั้นเกินขีดความปลอดภัยที่นาซ่ากำหนดไว้ และมีแนวโน้มสูงที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง (นี่ยังไม่นับรวมถึงรังสีที่ได้รับขณะที่พวกเขาอยู่บนดาวอังคาร) 

กราฟที่ 1 (Credit: NASA/JPL-Caltech/SwRI)
ปัจจุบันเรามีวิธีป้องกันอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์โดยให้มนุษย์อวกาศสวมชุดพิเศษหรือใช้แทงก์น้ำของยานเป็นตัวกำบัง (shielding) แต่การป้องกันรังสีคอสมิกต้องอาศัยตัวกำบังที่เนื้อแน่นและมีความหนาหลายเมตร ซึ่งตัวกำบังดังกล่าวยังเป็นไปไม่ได้สำหรับยานอวกาศในยุคนี้เพราะจะทำให้ยานมีน้ำหนักมากจนไม่สามารถปล่อยขึ้นฟ้าได้

ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นปรับปรุงตัวกำบังรังสีให้เบากว่าเดิม หรือพัฒนาตัวขับเคลื่อนยานให้มนุษย์อวกาศถึงจุดหมายเร็วขึ้นเพื่อย่นระยะเวลาที่ต้องเผชิญรังสี ทั้งสองแนวทางอยู่ระหว่างการค้นคว้าวิจัยโดยนาซ่า เมื่อพิจารณาแผนการเดิมที่จะส่งมนุษย์ไปดาวอังคารในช่วงปี 2030 – 2039 พวกเขายังคงมีเวลาเตรียมตัวกว่า 20 ปี [4] ซึ่งในระหว่าง 20 ปีนี้พวกเราคงได้เห็นเทคโนโลยียุคใหม่เกี่ยวกับการบินอวกาศแน่ ๆ


[1] Curiosity คือหุ่นสำรวจดาวอังคารตัวล่าสุด (Mars Science Laboratory Rover) เดินทางถึงดาวอังคารเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012

[2] รังสีคอสมิกถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1912 ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทราบว่ารังสีคอสมิกแท้จริงแล้วคืออนุภาคพลังงานสูง ประมาณ 90% คือโปรตอน ที่เหลืออีก 10% คืออิเล็กตรอนและนิวคลีออนของธาตุอื่น ๆ

[3] เมื่อดวงดาวเกิดการระเบิดที่เรียกว่า "ซุปเปอร์โนวา (supernova)” แรงของการระเบิดทำให้ก๊าซถูกผลักดันขยายตัวด้วยความเร็วสูง ก๊าซจะถูกอัดกันตรงผิวชั้นหน้าเกิดเป็นคลื่นกระแทก (shock wave) ซึ่งสร้างสนามแม่เหล็กความเข้มสูงขึ้นมา เมื่อโปรตอนเดินทางผ่านสนามแม่เหล็กตรงหน้าคลื่นกระแทก พลังงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1% โปรตอนบางตัวเดินทางกลับไปกลับมาหลายร้อยครั้งก่อนจะข้ามชั้นหน้าของก๊าซออกไปได้ ทำให้พลังงานและความเร็วถูกเร่งสูงขึ้นมาก เป็นที่มาของอนุภาคพลังงานสูงหรือรังสีคอสมิก ซากการระเบิดของดาว (supernova remnants) จึงเป็นเสมือนเครื่องเร่งอนุภาคในอวกาศนั่นเอง

[4] นอกจากนาซ่า ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่วางแผนจะส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร เช่น Mars One และ Inspiration Mars Foundation


เรียบเรียงจาก: www.guardian.co.uk

บทความที่เกี่ยวข้อง:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น