นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่กว่าโลก 3 ดวง อยู่ในแถบระยะที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต (Habitable Zone)

ดาว Gliese 667Cd (ดวงใหญ่) และดาวเคราะห์ซูเปอร์เอิร์ทสองดวงทางด้านบนขวา (ภาพจำลอง)

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทัศน์ขนาด 3.6 เมตร กอปรกับอุปกรณ์ที่เรียกว่า HARPS [1] ณ หอสังเกตการณ์ซิลลา (Silla Observatory) ประเทศชิลี ส่องไปยังดาวฤกษ์ที่มีชื่อว่า Gliese 667Cd  ในกลุ่มดาวแมงป่อง และพบดาวเคราะห์ 3 ดวงในแถบระยะที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต (Habitable Zone)



ดาวดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 22 ปีแสง [2] และมีมวลเพียง 1 ใน 3 ของมวลของดวงอาทิตย์ ขนาดที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์นี้หมายความว่าแถบระยะที่เอื้อต่อการมีน้ำในสถานะของเหลว ก็มีระยะน้อยกว่าระยะระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ด้วย

ดาวเคราะห์ทั้งสามดวงมีมวลอยู่ระหว่าง 2.7 ถึง 3.8 เท่าของมวลของโลก และระยะที่ดาวเคราะห์ทั้งสามห่างดวงจากดาวฤกษ์ของมันมีระยะน้อยกว่าระยะจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ ทำให้ดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยระยะเวลาเพียง 28, 39 และ 62 วันเท่านั้น นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคาดว่าอาจจะมีดาวเคราะห์อีกหนึ่งดวงที่ขอบด้านในของแถบระยะที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ระบบนี้มีดาวเคราะห์อยู่ทั้งหมด 7 ดวง (อีก 3 ดวงที่เหลือไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้)

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะบอกได้ว่าดาวเคราะห์ที่อยู่ในแถบระยะที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต มีน้ำที่มีของเหลวหรือไม่นั้น เราจะต้องวิเคราะห์ลักษณะของชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวด้วย

การค้นพบนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์...
- ทราบว่าดาวฤกษ์มวลน้อยสามารถมีดาวเคราะห์ในแถบระยะที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตได้จำนวนหนึ่ง
- ประเมิณอัตราการเกิดดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ชนิด M-dwarf [3] มากกว่าเดิม สองหรือสามเท่า
- คาดการณ์ว่า ในเอกภพของเราจำนวนของดาวเคราะห์ในแถบระยะที่เอื้อต่อการมีชีวิตนั้นอาจจะมีจำนวนมากกว่าดาวฤกษ์

การค้นพบนี้ทำให้เราได้กลับมาคิดว่า ดาวเคราะห์ที่อยู่ในแถบที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดา ส่วนในอนาคตหากเครื่องมือการวิเคราะห์เงื่อนไขอื่นๆ ที่เอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อันไกลโพ้น มีความทันสมัยมากขึ้น การพบสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นก็คงจะเป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาเช่นกัน

[1] HARPS (High Accuracy Radial velocity Planet Searcher)
เป็นอุปกรณ์ค้นหาดาวเคราะห์ด้วยการสังเกตการกระตุกของดาวฤกษ์ดวงแม่ที่กำลังเคลื่อนที่ข้ามท้องฟ้า

[2] ปีแสง เป็นหน่วยของระยะทาง 1 ปีแสงคือระยะทางที่แสงใช้เวลาเดินทาง 1 ปี หรือประมาณ 9.46 × 10^12 กิโลเมตร

[3] เป็นการแบ่งประเภทของดาว สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจาก คลิกสำหรับภาษาอังกฤษ หรือ คลิกสำหรับภาษาไทย

ที่มา: http://www.bbc.co.uk/news/science-environment-23032467

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น