ประวัติความเป็นมา

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (ซ้าย)
นาฬิกาแดดและยานอะพอลโล่จำลอง (ขวา)
ใน ปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี ม.ล. ปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสร้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและหอดูดาว ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ตลอดจน เป็นแหล่งที่เยาวชนสามารถไปชุมนุมหาความรู้ได้ง่าย เยาวชนจะได้เรียนจากของจำลองเหมือนของจริงทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งและรวดเร็วกว่าการสอนด้วยปากเปล่า ทั้งก่อให้เกิดความรู้ ความคิด ความมีเหตุผลและความเพลิดเพลินด้วย กระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้กองอุปกรณ์การศึกษา กรมวิชาการเป็นเจ้าของในการก่อสร้างและดำเนินการต่อไป

คณะรัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504 โดยมีห้างบีกริม แอนโก กรุงเทพ จำกัด และตัวแทน บริษัท คาร์ลไซซ์ ในสหพันธรัฐเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ จนเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและทอดพระเนตรการแสดงทางท้องฟ้า วันที่ 18 สิงหาคม 2507 หลังจากนั้นท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเปิดแสดงให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2507 เป็นต้นมา

เครื่องฉายดาวที่ใช้อยู่ในท้องฟ้าจำลองคือ "เครื่องฉายดาวไซซ์ส รุ่นที่ 4" ซึ่งประกอบด้วยระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า ระบบแสงที่ประณีตซับซ้อน สามารถแสดงดวงดาวในท้องฟ้า ของประเทศใด ๆ ตามวัน เวลา ที่ต้องการ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต สามารถฉายดาวฤกษ์ได้ 9,000 ดวง ฉายดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ 5 ดวง เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวต่าง ๆ ได้ชัดเจน รวมถึงภาพกลุ่มดาว ทางช้างเผือก กระจุกดาว ดาวหาง ดาวตก เมฆ แสงรุ่งอรุณ แสงสนธยา อีกทั้งยังสามารถแสดงการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา เส้นศูนย์สูตร เส้นสุริยวิถี เส้นเมอริเดียน ระบบสุริยะ โลกหมุนรอบตัวเองได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น