ความเป็นไปได้ของ ‘ชีวิตบนดาวอังคาร’

ภาพจาก NASA
แม้ว่าการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในสภาวะแวดล้อมที่ทั้งแห้งและหนาวเหน็บ[1] บนดาวอังคารยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย[2] ได้สร้างแบบจำลองเพื่อตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวแล้ว พวกเขานำข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ที่นักวิทยาศาสตร์เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาประมวลเข้าด้วยกัน คำตอบที่ได้รับคือไม่ใช่เฉพาะเรื่องความเป็นไปได้เท่านั้น แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของดาวอังคารยังเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอีกด้วย

 แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิด พื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตนั้นไม่ได้อยู่บนผิวของดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ แต่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวของมัน! โดยแบบจำลองได้ทำนายว่าแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่พบบนโลก สามารถอาศัยใต้ผิวของดาวอังคารได้อย่างสบาย ๆ

แน่นอนว่าการดำรงชีพบนดาวอังคารต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ เช่นชั้นบรรยากาศที่เบาบางมากทำให้รังสี UV ปริมาณสูงจากดวงอาทิตย์เล็ดลอดผ่านลงมาได้ รวมทั้งจะต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมความดันต่ำ น้ำจึงไม่สามารถคงรูปเป็นของเหลวแต่จะกลายเป็นไอที่ผิวของดาว[3] และด้วยอุณหภูมิที่เย็นจัดดาวสีแดงดวงนี้จะกักเก็บน้ำบางส่วนใต้พื้นผิวของมันในสภาพของน้ำแข็ง (โดยเฉพาะบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร) อย่างไรก็ตามอุปสรรคเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเรามองลึกลงไปข้างใต้เรื่อย ๆ นั่นคือปริมาณ UV จะค่อย ๆ ลดลง ในขณะที่ความดันจะค่อย ๆ สูงขึ้นจนถึงระดับที่ต้องการ และที่ความลึกระดับหนึ่งเราจะสามารถพบน้ำในสถานะที่เป็นของเหลว เพราะความร้อนจากแกนดาวเคราะห์จะละลายส่วนล่างของก้อนน้ำแข็งใต้ผิวดาว นั่นคือสภาวะอันเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกแบคทีเรียและจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่มีโครงสร้างแบบเดียวกับชนิดที่ดำรงอยู่ในโลกของเรา

แบบจำลองยังสรุปต่อไปว่าหากคิดพื้นที่ทั้งหมดนับจากแกนกลางไปจนถึงบรรยากาศชั้นบนของดาวเคราะห์ ดาวอังคารจะมีพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตสูงถึง 3% (มากกว่าโลกซึ่งมีแค่ 1%) แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเกือบทั้งหมดจะอยู่ใต้พื้นผิวดาวอังคารก็ตาม

แบบจำลองนี้ยังคงรอคอยการพิสูจน์ เพราะ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีอุปกรณ์หรือหุ่นยนต์สำรวจใดสามารถขุดลึกลงไปเพียงพอที่จะเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตตามที่แบบจำลองนี้เสนอได้


[1] อุณหภูมิเฉลี่ยที่ผิวดาวอังคารคือ -63 องศาเซลเซียส หรือ -81 องศาฟาเรนไฺฮต์

[2] ผลงานวิจัยของ Jones, Lineweaver, และ Clarke:  

[3] ในบริเวณที่ความดันต่ำน้ำจะระเหยกลายเป็นไอได้ง่ายกว่าบริเวณที่ความดันสูง

เรียบเรียงจาก:

4 ความคิดเห็น: