ทำความรู้จักกับธุรกิจอวกาศ SpaceX

จรวด Falcon 9 - ภาพจาก SpaceX
ถ้าจะนึกถึงธุรกิจอวกาศคงจะจินตนาการกันไม่ง่ายนัก หนึ่งในบรรดาธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างสูงคงหนีไม่พ้น SpaceX ซึ่งก่อตั้งโดย Elon Musk ผู้เป็นทั้งวิศวกรและนักธุรกิจชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Paypal และ Tesla Motors เป็นต้น

SpaceX คือบริษัทขนส่งอวกาศที่โด่งดังระดับโลกโดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากนาซ่า เมื่อปีก่อน SpaceX ได้ทำการปล่อยจรวด Falcon 9 ขึ้นสู่ฟากฟ้า มันถูกจดจำทันทีในฐานะจรวดยุคใหม่ที่สามารถบรรทุกของหนักได้และถูกสร้างโดยบริษัทเอกชน ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 จรวด Falcon 9 ของ SpaceX ถูกปล่อยขึ้นฟ้าอีกครั้ง แต่คราวนี้มันถูกเชื่อมต่อกับกระสวยอวกาศชื่อ Dragon ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนั้นกระสวยอวกาศ Dragon ยังสามารถบรรทุกคลังสินค้าและลูกเรือได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อ
รองรับการเดินทางของทั้งคนและสินค้าในอนาคต ภารกิจครั้งนั้นคือการนำกระสวย Dragon ขับเคลื่อนขึ้นสู่ฟากฟ้าด้วย Falcon 9 และปล่อยให้มันเคลื่อนที่เป็นวงโคจรประมาณ 2 รอบก่อนตกกลับลงมาสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและถูกนำกลับมาใช้ใหม่ [1]

การส่งกระสวย Dragon ขึ้นไปกับ Falcon 9 เป็นเสมือนใบเบิกทางให้กับธุรกิจซึ่งสร้างรายรับอันมหาศาล ปีก่อน SpaceX เซ็นต์สัญญาเพื่อทำการส่งดาวเทียม Iridium ด้วยเงิน 492 ล้านดอลลาร์ และเซ็นต์สัญญามูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์กับ ISS [2] อีกด้วย มองง่าย ๆ ณ เวลานี้ SpaceX ก็เปรียบเสมือนบริษัทขนส่งสินค้า (รวมทั้งคน) ระหว่างโลกกับสถานีอวกาศเบื้องบน

Elon Musk บอกว่าประเด็นสำคัญของธุรกิจอวกาศคือการรีไซเคิล ต้นทุนรวมในการปล่อย Falcon 9 อยู่ที่ 60 ล้านดอลลาร์ มีเพียงแค่ 2 ล้านดอลลาร์เท่านั้นที่เป็นค่าเชื้อเพลิงซึ่งใช้แล้วหมดไป ส่วนอีก 58 ล้านที่เหลือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แม้จะเป็นแค่แนวคิดเริ่มต้น แต่วิธีการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในครั้งต่อ ๆ ไปได้มาก

การรีไซเคิลสามารถแทรกอยู่ในสองขั้นตอนของการปล่อยจรวด ขั้นแรกคือการนำตัวยานซึ่งเป็นตัวจุดเชื้อเพลิงและถูกสลัดหลุดออกมาที่ความสูงไม่มากนักกลับมาใช้ใหม่ โดยคำนวณวิถีการตกของมันให้อยู่บริเวณฐานปล่อยจรวด ขั้นสองคือการนำส่วนตัวหลักของจรวดหลังจากที่มันทำหน้าที่เสร็จสมบูรณ์กลับลงสู่โลกอย่างปลอดภัย ซึ่งตัวจรวดเองจำเป็นต้องหุ้มด้วยฉนวนความร้อนเพื่อกันการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก ความท้าทายของ Elon Musk อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้การเสริมตัวกันความร้อนดังกล่าวกลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักของจรวดมากจนเกินไป และไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากนัก

นอกจากนี้ Elon Musk ยังวางแผนที่จะบุกเบิกธุรกิจท่องเที่ยวในอวกาศ แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายหลักไม่ใช่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ แต่เป็นมหาเศรษฐีที่แสวงหาความบันเทิงและประสบการณ์ที่ไม่อาจสัมผัสได้บนโลก เมื่อเร็ว ๆ นี้ Elon Musk ได้ประกาศว่าจะส่งนักท่องเที่ยวไปยังดาวอังคารภายใน 10-20 ปีข้างหน้า นี่อาจเป็นธุรกิจที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มน้อยนิดแต่สามารถกอบโกยเงินมหาศาลเลยทีเดียว


[1] วิธีเดียวกับที่นาซ่านำกระสวยจากยาน Apollo 11 กลับไปใช้ใหม่

[2] ISS คือสถานีอวกาศนานาชาติ ย่อมาจาก International Space Station

เรียบเรียงจาก: NewScientist 22-12-2011 by Greg Klerkx

1 ความคิดเห็น: