ใครจะเก็บ ‘ขยะอวกาศ’ ?

ภาพจาก dailymail.co.uk
ทุกวันนี้มนุษย์เราส่งดาวเทียมมากมายขึ้นไปโคจรรอบโลก และยิ่งดาวเทียมเหล่านี้ทวีจำนวนมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการชนกันเองก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น การชนกันแค่ครั้งเดียวจะก่อให้เกิดเศษชิ้นส่วนจำนวนมากกระจัดกระจายไปเหมือนกลุ่มเมฆขนาดยักษ์ และกลุ่มชิ้นส่วนเหล่านี้ยังสามารถปะทะกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ อีกเหมือนการเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ เรียกได้ว่าการชนกันแค่ครั้งเดียวจะกระตุ้นให้เกิดการชนกันอีกหลายครั้ง เกิดความเสียหายอันใหญ่หลวงตามมาอย่างต่อเนื่อง

โศกนาฏกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2552 เมื่อดาวเทียม Kosmos-2251 ของรัสเซีย ชนเข้ากับดาวเทียมสื่อสาร Iridium-33 ขณะโคจรด้วยความเร็วสูงถึง 42,100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากรายงานของ Space Surveillance Network (SSN) การชนกันในครั้งนี้ก่อให้เกิดเศษชิ้นส่วนที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 เซนติเมตร มากถึง 2,000 ชิ้น
นี่ยังไม่นับรวมถึงชิ้นส่วนขนาดเล็กที่กระจัดกระจายออกไป และหลายชิ้นที่มีขนาดเล็กจิ๋วเสียจนไม่สามารถตรวจจับได้จากบนโลก

เศษชิ้นส่วนขนาดเล็กพวกนี้สร้างความกังวลอย่างใหญ่หลวงต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง Heiner Klinkrad [1] อธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่า ดาวเทียมส่วนใหญ่จะโคจรรอบโลกด้วยความเร็วสูงเกิน 10,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากดาวเทียมเหล่านี้ชนเข้ากับวัตถุซึ่งแม้จะเล็กเพียง 1 เซนติเมตร ผลของมันไม่ต่างจากการถอดสลักระเบิดมือและปล่อยให้มันระเบิดข้าง ๆ ตัวดาวเทียม

ขยะอวกาศไม่ได้มีเฉพาะเศษซากของดาวเทียมที่ตายแล้วเท่านั้น แต่ยังนับรวมถึงจรวดบางส่วนที่ใช้ในการขับเคลื่อนดาวเทียมขึ้นฟ้าและยังคงลอยคว้างอยู่บนนั้น หรือแม้แต่พวกวัตถุต่าง ๆ ที่นักบินอวกาศทิ้งไว้ จากการจัดจำแนกของ SSN พบว่ามีวัตถุถึง 12,000 ชิ้นขนาดเกิน 10 เซนติเมตรลอยอยู่ในวงโคจรรอบโลก และเกินสามในสี่ของทั้งหมดเรียกได้ว่าเป็นขยะอวกาศ ในกรณีของวัตถุที่เล็กกว่า 1 เซนติเมตร ผลการประมาณเป็นที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เนื่องจากมันมีมากถึง 100-1,000 ล้านชิ้น! และโดยส่วนใหญ่จะไม่มีวงโคจรที่แน่ชัด แถมยังสามารถพุ่งชนดาวเทียมให้พังเป็นชิ้น ๆ ได้อีกด้วย

ทุกสิ่งเริ่มชัดเจนขึ้น “ความสามารถในอนาคตของพวกเราที่จะใช้อวกาศถูกปิดกั้นโดยเศษซากชิ้นส่วนพวกนี้” Berin Szoka [2] กล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีใครสักคนขึ้นไปเก็บขยะอวกาศลงมาจัดการ แต่คำถามอยู่ที่ว่า ชิ้นไหน ใครจะเป็นคนลงมือ จะทำด้วยวิธีไหน และใครเป็นคนจ่ายเงิน ในเมื่อการทำความสะอาดอวกาศต้องใช้งบประมาณที่สูงลิ่ว

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของกฎหมาย ภายใต้ Maritime law ใครก็ตามสามารถเคลื่อนย้ายเรือที่ถูกทิ้งกลางทะเลได้โดยปราศจากคำยินยอมจากเจ้าของ แต่สำหรับยานพาหนะด้านอวกาศจะไม่สามารถทำได้เนื่องจากกฎ Outer Space treaty [3] ที่ถูกตราขึ้นในปี พ.ศ. 2510 James Dustan [3] สรุปสั้น ๆ ว่า “คุณส่งอะไรก็ตามขึ้นไปในอวกาศ มันจะเป็นของคุณไปตลอด” ดังนั้นหากอเมริกาจะเคลื่อนย้ายดาวเทียมของรัสเซียออกนอกวงโคจรเดิมก็ต้องรับโทษตามกฎ ถึงแม้ดาวเทียมดวงนั้นจะตายแล้วและเป็นภัยต่อดาวเทียมที่ยังทำงานอยู่ก็ตาม

อุบัติเหตุบนฟากฟ้านอกจากจะก่อให้เกิดความเสียหายแล้ว มันยังเพิ่มปริมาณขยะในอวกาศอีกด้วย หากเราไม่หาทางจัดการกับชิ้นส่วนรอบ ๆ วงโคจรของโลก ในไม่ช้าพวกเราจะถูกตัดขาดจากอวกาศ แต่ใครจะเก็บ ‘ขยะอวกาศ’ ? หวังว่าคงจะมีใครสักคนออกมาตอบคำถามนี้ในเร็ววัน


[1] หัวหน้าฝ่าย Space Debris ที่ European Space Agency in Darmstadt, Germany

[2] เจ้าหน้าที่ Progress and Freedom Foundation

[3] Outer Space treaty คือข้อตกลงร่วมกันในการสำรวจหรือใช้อวกาศ ซึ่งมีผู้ลงนามเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2510 คืออเมริกา สหราชอาณาจักรและรัสเซีย ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 มีประเทศร่วมสมาชิกเพิ่มเป็น 100 ประเทศ ในขณะที่อีก 26 ประเทศได้ลงนามแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

[4] James Dustan นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับอวกาศ

เรียบเรียงจาก: NewScientist 11 September 2010 – Who you gonna call? Junk Busters! by Stuart Clark

1 ความคิดเห็น: