Top 10 เรื่องราวเกี่ยวกับอวกาศแห่งปี 2554

ภาพจาก National Geographic
นิตยาสาร Astronomy ได้จัดอันดับ 10 เรื่องราวด้านอวกาศที่สุดแห่งปี 2554 ไว้ดังนี้

10. ยาน MESSENGER ไปถึงดาวพุธ

หลังจากใช้เวลานานถึง 7 ปี ในที่สุดยาน MESSENGER ก็ไปถึงดาวพุธในวันที่ 18 มีนาคม 2554 และทำการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นผิวทางกายภาพและทางเคมีของดาว ทยอยส่งภาพถ่ายอันน่าตื่นเต้นให้คนบนโลกได้ชื่นชมกันอย่างต่อเนื่อง ยาน MESSENGER ยังมีเป้าหมายเพื่อค้นหาแหล่งที่มาของสนามแม่เหล็กอันไม่สมมาตรที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่

9. การระเบิดรูปแบบใหม่ในอวกาศ
หลังจากเฝ้าจับตามอง supernovae 2005ap นักดาราศาสตร์ค้นพบว่ามันมีรูปแบบการระเบิดที่แปลกประหลาด มันระเบิดออกเป็นโทนแสงค่อนไปทางแสงสีฟ้ามากกว่า supernovae ส่วนใหญ่ ร้อนกว่า และเจิดจ้ามากกว่าด้วย สเปกตรัมที่ตรวจวัดได้บ่งบอกว่าไม่มีองค์ประกอบของไฮโดรเจน นอกจากนี้การระเบิดของมันยังผลักสสารให้กระจายออกไปเร็วยิ่งกว่า supernovae ทั่วไป (ด้วยอัตราประมาณ 10,000 กิโลเมตรต่อวินาที) นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อการระเบิดรูปแบบใหม่นี้ว่า superluminous supernovae

8. ฟองรังสีแกมมายักษ์ในทางช้างเผือก
มีการค้นพบการแผ่รังสีแกมมาจากใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือกโดยมีลักษณะขยายออกไปคล้ายฟองยักษ์ในทิศตรงกันข้าม นักดาราศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าเกิดจากหลุมดำขนาดยักษ์ตรงใจกลางกาแลกซีกำลังกลืนกินก๊าซจากจานรวมมวล (accretion disc) และคายพลังงานในรูปของรังสีแกมมาออกมา

7. พบวัตถุร่วมวงโคจรเดียวกับโลก
ในระบบของโลกและดวงอาทิตย์ มีจุดสมดุลของแรงโน้มถ่วงอยู่ 2 แห่ง (ถูกกำหนดให้เป็นตำแหน่ง L4 และ L5) ที่ซึ่งหากวัตถุอยู่ตรงบริเวณดังกล่าว จะยังคงรักษาตำแหน่งเดิมเมื่อเทียบกับโลกและดวงอาทิตย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 มีการค้นพบวัตถุอวกาศตรงตำแหน่ง L4 ซึ่งจะโคจรรอบดวงอาทิตย์นำหน้าโลกของเราไปประมาณ 60 องศา

6. ความเข้าใจที่มากขึ้นต่อดวงอาทิตย์
ปีที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ได้พยายามศึกษาดวงอาทิตย์อย่างละเอียด โดยพยายามรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ มีการประกาศว่า sunspot cycle ที่กำลังเผชิญกันอยู่ในปัจจุบัน (สูงสุดในปี 2556) ถือได้ว่าเป็นรอบที่รุนแรงที่สุดในหลายศตวรรษ

5. ปริศนาของน้ำบนดาวอังคาร?
เดือนสิงหาคม 2554 มีการนำเสนอหลักฐานซึ่งบ่งบอกว่ายังคงมีน้ำไหลบนดาวอังคาร โดยใช้ภาพถ่ายผิวดาวอังคารเป็นหลักและสังเกตรูปแบบพื้นผิวที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบพื้นผิวที่สังเกตได้เป็นผลมาจากการไหลของน้ำ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจนเนื่องจากยังไม่มีใครทราบถึงแหล่งที่มาของน้ำ และรูปแบบพื้นผิวดังกล่าวไม่สามารถใช้ตรวจหาองค์ประกอบทางเคมีเพื่อยืนยันว่ามันคือน้ำได้

4. การเฝ้าดูหลุมดำกลืนกินดาวฤกษ์
ปี 2554 นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตหลุมดำขนาดยักษ์ตรงใจกลางกาแลกซีขณะที่มันกำลังกลืนกินดาวฤกษ์อยู่ โดยดาวฤกษ์โชคร้ายดวงนั้นเข้าใกล้หลุมดำจนเกินไป มันจึงถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ แต่ละชิ้นส่วนของสสารถูกดึงดูดจนก่อรูปร่างเป็นจานรวมมวล (accretion disc) ก่อนจะค่อย ๆ วนเข้าสู่ใจกลางหลุมดำ กระบวนการที่ว่านี้จะเกิดความร้อนมหาศาล นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าวจากคลื่นวิทยุและ X-rays ที่มันแผ่ออกมา

3.การค้นพบดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลก
ปีที่ผ่านมามีการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกที่อยู่นอกระบบสุริยะอย่างต่อเนื่องโดยมีขนาดและมวลที่แตกต่างกันออกไป ดวงที่คล้ายโลกมากที่สุดมีชื่อว่า Gliese 581 มีมวลประมาณ ¾ เท่าของโลก โคจรรอบดาวฤกษ์ในบริเวณที่สามารถมีน้ำบนพื้นผิวดาวได้ (ไม่ใกล้และไม่ไกลจากดาวฤกษ์ที่เป็นแหล่งพลังงานหลักจนเกินไป) แต่ปัญหาคือมีการคัดค้านมากมายในเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล Gliese 581 จึงยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ต่อมาในเดือนกันยายน 2554 มีการค้นพบ HD 85512 มีมวลประมาณ 3.6 เท่าของมวลโลก ปัจจุบันยังไม่มีการคัดค้านข้อมูลดังกล่าว [1]

2. สิ่งที่คิดว่าเป็นมาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐานอีกต่อไป
ในอดีตเคยมีวัตถุอยู่ 2 สิ่งในอวกาศที่สามารถใช้เป็นตัวปรับเทียบค่ามาตรฐาน นั่นคือดาวแปรแสง Cepheid (ใช้ระบุระยะทางระหว่างกาแลกซี) และ เนบิวลารูปปู (ใช้ปรับเทียบค่า detector ในย่านคลื่นแสงที่มีพลังงานสูง) เดือนมกราคมปีที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ค้นพบว่าวัตถุทั้งสองมีความแปรเปลี่ยนไปจนมนุษย์ไม่สามารถที่จะใช้อ้างอิงได้อีกแล้ว

1. เที่ยวบินสุดท้ายของกระสวยอวกาศ
ผ่านไป 30 ปี ด้วยเที่ยวบินมากกว่า 135 รอบ โปรแกรมกระสวยอวกาศของนาซา (Space Shuttle Program) ได้ทำการปล่อยกระสวยเที่ยวสุดท้ายวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 โดยได้นำลูกเรือขึ้นสู่ฟากฟ้าในวันนั้นทั้งสิ้น 8 คนเพื่อขนถ่ายเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภารกิจสุดท้ายนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 13 วัน ซึ่งสิ้นสุดลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 เมื่อกระสวยอวกาศ Atlantis ลงจอดที่ศูนย์การบินอวกาศ John F. Kennedy อย่างปลอดภัย นับว่าเป็นการปิดฉากครั้งสมบูรณ์ของ Space Shuttle Program


[1] มีการค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น Kepler-22b -http://bkkplanetarium.blogspot.com/2011/12/blog-post.html

เรียบเรียงจาก: นิตยาสาร Astronomy -January 2012


4 ความคิดเห็น:

  1. นั่นดิ ไมขยันจัง - -'

    ตอบลบ
  2. คุณพี่ชายไม่อัพบ้างเหรอคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตายแระ คุณ SomeOne ถามตรงๆ แบบนี้ พี่ชาย จะแก้ตัวยังไงล่ะเนี่ย

      ลบ