มอง "Prometheus" ผ่านตำนานโบราณและวิทยาศาสตร์ยุคปัจจุบัน (spoil)


ภาพยนตร์ Prometheus กำกับโดย Ridley Scott เล่าถึงการเดินทางของทีมนักวิทยาศาสตร์ด้วยยาน Prometheus (ชื่อเดียวกับชื่อหนัง) เพื่อออกค้นหาต้นกำเนิดมนุษย์ในจักรวาล แต่หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในวงกว้าง ได้เกิดเสียงวิพากวิจารณ์ว่านี่คือภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยทัศนะหรือมุมมองแบบ anti-science (การมองวิทยาศาสตร์ในแง่ลบ) เราอาจจะพบภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ดีนัก และคำพูด (แรง ๆ) ของตัวละครเช่นว่า “แค่มี DNA และสมอง ก็สามารถสร้างชีวิตได้”

การถกเถียงดังกล่าวแพร่หลายทั้งใน website และ blog ด้านดาราศาสตร์ที่ลงบทความเกี่ยวกับ Prometheus หนึ่งในนั้นคือ www.dailygalaxy.com – Great Discoveries Channel ซึ่งเริ่มต้นพาดหัวบทความว่า
Ridley Scott's "Prometheus" Suggests DNA May Be a Constant in the Universe --Richard Dawkins and Other Scientists Agree
ตามมาด้วย
Comment of the Day: "Prometheus" Suggests DNA May Be a Constant in the Universe 
หลังจากนั้นมีผู้แสดงความคิดเห็น (ค่อนข้างรุนแรง) ตามมาติด ๆ ว่า
“Prometheus is so anti-intellectual and anti-science - and is simply a terrible movie - that I hope DailyGalaxy will consider pulling down this post and any reference to the film.”
แม้คำวิจารณ์โดยภาพรวมต่อตัวเนื้อแท้ของหนังจะค่อนข้างดี แต่ก่อนที่บทหนังแบบสุดโต่งจะฉุดรายได้ของหนัง (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ Watchmen) Damon Lindelof ผู้เขียนบทภาพยนตร์ได้ออกมายืนยันว่า “Prometheus ไม่ใช่ภาพยนตร์แนว anti-science อย่างแน่นอน!” พร้อมให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม (ซึ่งน่าสนใจอยู่ไม่น้อย) สรุปได้ดังนี้

สิ่งที่อยู่ใน Prometheus คือมุมมองแบบวิทยาศาสตร์โดยแท้ เราทุกคนถูกตั้งโปรแกรมให้ค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางจะได้คำตอบที่น่าพอใจ เราก็ยังคงสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราตาย เราทุกคนมีจุดกำเนิดมาจากไหน อะไรคือความหมายของการดำรงอยู่ เราจะใช้ชีวิตไปทิศทางไหน แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่คำถามในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่แนวคิดที่ว่าเราสามารถหาจุดเหมาะสมให้กับวิทยาศาสตร์ และใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องนำทางในการค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ ย่อมเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ Prometheus พยายามหาจุดสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์กับความเชื่อทางศาสนา หนังพยายามขยายแนวคิดที่ว่า “เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยที่ยังคงศรัทธาในบางสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม Prometheus วนเวียนอยู่กับการตั้งคำถามในเชิงปรัชญา และความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนา หรือแม้แต่ความเชื่อยุคโบราณ เราจะเห็นได้จากคลิปเปิดตัว (อันฮือฮาและสร้างความ surprise) เพื่อโปรโมทหนังก่อนที่จะเริ่มฉายจริง ในคลิปเป็นสุนทรพจน์ของ Peter Weyland (นำแสดงโดย Guy Pearce) รับบทเป็นเจ้าของบริษัท Weyland Company ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการสร้างยาน Prometheus ออกปฏิบัติภารกิจครั้งสำคัญ


ตามตำนานกรีกโบราณ Prometheus คือวีรบุรุษผู้ซึ่งขโมย “ไฟ” จากพระเจ้ามาให้มนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความก้าวหน้าด้านอารยะธรรม ทั้งหมดเพียงเพราะมนุษย์รู้จักที่จะใช้ “ไฟ” Peter Weyland ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของการใช้อุปกรณ์หิน ดินปืน พลังงานนิวเคลียร์ จนถึงยุคแห่งการศึกษาจักรวาลวิทยาสมัยใหม่ด้วย M-Theory ทุกอย่างล้วนเริ่มต้นมาจาก “ไฟ” ที่ Prometheus ขโมยมาจากพระเจ้า ในช่วงท้ายของคลิปเขาบอกกับผู้ฟังว่าเราสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์มากขึ้น (เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2023) และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหุ่นพวกนี้จะยิ่งคล้ายมนุษย์จนไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ เขาสรุปว่าในที่สุดเราจะกลายเป็นพระเจ้าเอง อย่างไรก็ตามโครงการสร้างยาน Prometheus เพื่อตอบคำถามอันยิ่งใหญ่ถึงจุดกำเนิดของมนุษย์นั้นจะแล้วเสร็จก็ต้องรอไปอีกประมาณ 70 ปีข้างหน้า ด้วยข้อจำกัดเรื่องอายุ เจ้าของทุนสนับสนุนมหาศาลอย่าง Peter Weyland รู้ตัวดีว่าไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอจนถึงวันนั้นได้

ตามตำนานชาวตะวันตก Prometheus คือสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ (หรือแม้แต่ความทะเยอทะยาน) ในการค้นคว้าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และคอยย้ำเตือนถึงความเสี่ยงของผลจากความอยากรู้อยากเห็นอันไร้ซึ่งขอบเขตและไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมักสะท้อนถึงโศกนาฏกรรมอยู่กลาย ๆ ในนิยายสยองขวัญคลาสสิกเรื่อง “Frankenstein” ของ Mary Shelley นักวิทยาศาสตร์ผู้พยายามคืนชีพให้ซากศพด้วยพลังของสายฟ้า ได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดเมื่อสิ่งมีชีวิตผิดธรรมชาติที่เขาสร้างขึ้นหวนกลับมาทำร้ายผู้สร้างเอง โดย Mary Shelley ยังคงตั้งชื่อรองให้กับนิยาย “Frankenstein” ว่า “The Modern Prometheus”

(http://en.wikipedia.org/wiki/File:Frank1818.jpg)
วกกลับมาที่ตัวภาพยนตร์ ฉากเปิดเรื่องของ Prometheus บอกใบ้ถึงจุดกำเนิดมนุษย์ นั่นคือเกิดจากการสละชีวิตของผู้สร้าง (ในหนังใช้คำว่า engineer) โดยผู้สร้างทิ้งร่างและ DNA ของตนลงสู่มหาสมุทรบนโลกในยุคที่ยังไม่มีสิ่งมีชีวิตใด ๆ อาศัยอยู่ แนวคิดนี้อิงอยู่กับทฤษฎี Directed Panspermia ซึ่งอธิบายว่าชีวิตบนโลกเกิดได้ด้วยองค์ประกอบชีวิตพื้นฐานจากนอกโลก โดยอาจเดินทางมากับอุกกาบาต (ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน) หรือจากอารยะธรรมอื่นที่เจริญแล้วหว่าน DNA ไปทั่วจักรวาล ให้กำเนิดชีวิตใหม่บนดาวเคราะห์ดวงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้สร้างยังทิ้งแผนที่ไว้ตามผนังถ้ำและสถานที่หลายแห่งทั่วโลก สิ่งนี้เองเปรียบเสมือนคำเชื้อเชิญให้มนุษย์เดินทางไปพบผู้สร้าง และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างยาน Prometheus ในที่สุด เมื่อ Prometheus เดินทางถึงที่หมาย ทีมนักวิทยาศาสตร์ถูกปลุกให้ตื่นจาก hypersleep (การหลับลึกใน capsule โดยทำให้ร่างกายหยุดการเผาผลาญเชื้อเพลิงหรือแม้แต่การไหลเวียนเลือดและออกซิเจน) พวกเขาได้ค้นพบว่าผู้สร้างแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นมิตรอย่างที่คิด เพราะผู้สร้างได้วางแผนที่จะทำลายมนุษย์ซึ่งตนสร้างขึ้นมาเอง แต่โชคดีที่เกิดเหตุผิดพลาดเสียก่อนทำให้แผนการนั้นล้มเหลวไป

ภาพฉากต้นเรื่องของ Prometheus ขณะที่ผู้สร้างกำลังสละ DNA ของตนเองเพื่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลก
หนังเฉลยต่อไปว่า Peter Weyland ยังคงมีชีวิตอยู่ (ซึ่งควรจะตายไปแล้วหากคำนวณตามอายุปกติของมนุษย์) แต่เขาใช้วิธี hypersleep เพื่อช่วยให้ร่างการเสื่อมสภาพช้าลง Peter Weyland ต้องการมาพบผู้สร้างเพื่อขอร้องให้มอบความเป็นอมตะให้กับเขา เขาเชื่อว่าในเมื่อผู้สร้างสามารถสร้างชีวิตได้ ก็สามารถต่อหรือมอบชีวิตใหม่ให้เขาได้ แต่สำหรับ Elizabeth Shaw นางเอกของเรื่อง เธอต้องการมาพบผู้สร้างด้วยแรงผลักดันของทั้งความเป็นนักวิทยาศาสตร์และความเป็นผู้นับถือพระเจ้า เธอต้องการพูดคุยกับผู้สร้างและถามเหตุผลว่าทำไมจึงสร้างมนุษย์ขึ้น แม้ในตอนท้ายที่รู้ว่าผู้สร้างเคยมีแผนจะทำลายล้างมนุษย์ และเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ เธอเลือกที่จะไม่เดินทางกลับโลก แต่เดินทางไปยังดาวของผู้สร้างเพื่อหาคำตอบต่อไปว่า “ทำไมผู้สร้างจึงคิดจะทำลายสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นเองกับมือ” เธอเชื่อว่าเธอมีสิทธิ์ที่จะรู้คำตอบ

การเดินทางสู่อวกาศอันไกลโพ้นของ Prometheus อิงอยู่กับ hypersleep เป็นหลัก ในปี ค.ศ. 1979 ขณะที่ภาพยนตร์ต้นฉบับของ Prometheus เรื่อง Alien เข้าฉาย ประเด็น hypersleep ในตอนนั้นเป็นเรื่องของนวนิยายวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ แต่ตอนนี้หลักการของ hypersleep เริ่มมีเค้าโครงของวิทยาศาสตร์จริงอยู่บ้าง ช่วงปี ค.ศ. 2001 Mark Roth จาก Fred Hutchinson Cancer Research Center ได้เคยตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการยืดชีวิตให้กับสิ่งมีชีวิต เขาทดลองกับตัวอ่อนของ zebra fish ด้วยการยับยั้งการไหลเวียนออกซิเจนและการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งสามารถยืดอายุของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวได้

เครื่อง Hypersleep (ภาพจาก Alien ภาคแรก) 
Hypersleep คือการทำให้หลับหรือลดอัตราการไหลเวียนของของเหลวต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยการแช่แข็งหรือใช้สารเคมี ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพช้าลง และช่วยยืดชีวิตให้ยืนยาวกว่าปกติ หนึ่งในสารเคมีที่เคยถูกทดลองใช้แล้วคือ Hydrogen Sulphide โดยทดลองกับหนู ผลที่ได้คืออัตราการเผาผลาญออกซิเจนลดลงเหลือ 1 ใน 10 ของระดับปกติ และหลังจากนั้น 6 ชั่วโมงเมื่อนำหนูออกสู่อากาศปกติ หนูทดลองสามารถกลับมามีชีวิตปกติได้อีกครั้งโดยไร้ซึ่งผลข้างเคียง

เนื่องจากแง่มุมด้านศีลธรรมและระบบกลไกอันสลับซับซ้อนของร่างกาย วิธีการนี้ยังใช้ไม่ได้กับสิ่งมีชีวิตขั้นสูงเช่นมนุษย์ แต่ Mark Roth ได้เน้นย้ำข้อดีของ Hypersleep โดยให้จินตนาการถึงคุณประโยชน์หากเราสามารถยืดชีวิตของผู้ป่วยที่หัวใจล้มเหลวออกไปได้อีกสัก 24 ชั่วโมง หรือใช้ Hypersleep เพื่อเพิ่มเวลาให้สามารถนำผู้ป่วยคนนั้นส่งโรงพยาบาลได้ทัน มันจะมีประโยชน์มหาศาลต่อวงการการแพทย์ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าเพื่อใช้ Hypersleep ในการส่งมนุษย์เดินทางออกสู่อวกาศในระยะทางไกลแสนไกล

เทคโนโลยีด้าน Hypersleep ประสิทธิภาพสูงอย่างในภาพยนตร์ Prometheus คงยากจะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้ ด้วยข้อจำกัดนี้ เราอาจจะยังไม่สามารถท่องไปในอวกาศได้ไกลอย่าง Prometheus แต่เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ เราลองมาคำนวณคร่าว ๆ ถึงการเดินทางไปยังระบบดาวที่อยู่ใกล้สุดภายนอกระบบสุริยะกันดูดีกว่า

Alpha Centauri คือระบบดาวที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรามากที่สุด อยู่ห่างออกไปประมาณ 4.22 ปีแสง หรือ 39.9 ล้านล้านกิโลเมตร (ดาวใน Prometheus อยู่ห่างจากโลกประมาณ 39 ปีแสง หรืออยู่ไกลกว่าประมาณ 9 เท่า เมื่อเทียบกับ Alpha Centauri) สมมติว่าใช้ความเร็วของยาน Voyager ที่มีภารกิจแบบ flyby (ปล่อยให้เคลื่อนที่ไปไกลเรื่อย ๆ และคอยสำรวจสิ่งที่อยู่ระหว่างทางผ่านของมัน) เป็นหลัก ด้วยระยะทางดังกล่าวผนวกกับขีดความสามารถของยานซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 59,700 km/h มนุษย์ยังต้องใช้เวลานานถึง 76,000 ปี เพื่อไปยังระบบดาวใกล้ที่สุดอย่าง Alpha Centauri ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงดาวใน Prometheus กันเลยทีเดียว (ในหนัง Prometheus จะต้องเดินทางได้เร็วกว่าแสง! เพราะใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 2 ปี!)

ภาพจำลองระบบดาว Alpha Centauri เมื่อมองจากดาวเคราะห์บริวาร
 (http://en.wikipedia.org/wiki/File:Frank1818.jpg)
หากเราพัฒนาระบบเชื้อเพลิงของยานโดยใช้เชื้อเพลิงจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ fusion (ซึ่งคาดว่าจะขับเคลื่อนยานได้ด้วยความเร็วถึง 10% ของความเร็วแสง) หรือแม้แต่เชื้อเพลิงจากอันตรกิริยาของสสารกับปฏิสสาร เราอาจย่นระยะเวลาเดินทางจาก 76,000 ปี ให้เหลือแค่เพียง 50 ปี แต่เรื่องนี้ก็ยังคงมีปัญหาฟิสิกส์พื้นฐานที่ต้องแก้ไข และคงไม่สามารถเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

Andreas Tziolas จาก University of Alaska Anchorage ให้สัมภาษณ์นิตยาสาร Astronomy ว่า “การเดินทางเช่นนี้ เวลาเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องคำนึงถึง หากต้องเดินทางในระยะไกลมาก ยานอวกาศควรจะมีความเร็วสูง แต่ยิ่งยานอวกาศจะไปไกลแค่ไหน ทรัพยากรบนยานต้องมากขึ้นตามไปด้วย และยิ่งทรัพยากรมาก ยิ่งเพิ่มน้ำหนักของยาน และเมื่อน้ำหนักของยานมากขึ้น ก็ยิ่งถ่วงให้การเดินทางนั้นช้าลง” การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนงูกินหางดี ๆ นี่เอง (นอกจากว่าจะมีระบบ Hypersleep) และหากมีมนุษย์อยู่บนยาน ยิ่งต้องคำนึงถึงความสามารถของมนุษย์ในการทนต่อความเร่งจากเชื้อเพลิงด้วย ขีดจำกัดต่าง ๆ ก็จะยิ่งถาโถมเข้ามา

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาหลักนอกเหนือจากด้านเทคโนโลยีในการส่งมนุษย์ไปไกลเช่นนั้น คือเรื่องสภาพจิตใจของลูกเรือ หากเรายังไม่มี Hypersleep ประสิทธิภาพสูง การเดินทางสู่จุดหมายยาวนาน (เช่น 50 ปี หรือยาวนานถึงหลายพันปี) ไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยคนเพียงรุ่นเดียว นักบินอวกาศรุ่นแรกของยานคงต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ทางสังคมครั้งใหญ่ เพราะลูกเรือและยานอวกาศทั้งลำจะเป็นโลกทั้งใบที่พวกเขาอาศัยอยู่ไปตลอดชีวิต เป็นชุมชนเล็ก ๆ แห่งเดียวที่พวกเขามี ยานอวกาศจึงต้องเสมือนบรรจุเมืองทั้งเมืองเอาไว้ในตัวมันเอง และประเด็นที่สำคัญคือ ลูกเรือทั้งหมดมี gene pool หลากหลายเพียงพอหรือไม่ที่จะให้กำเนิดลูกหลานที่มีสุขภาพแข็งแรงได้ หรือถ้าเกิดลูกเรือเปลี่ยนใจไม่อยากทำภารกิจตั้งแต่ช่วง 20 ปีแรก จะทำอย่างไร

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญยิ่งคงหนีไม่พ้นแง่มุมด้านศีลธรรมที่ว่า “มันยุติธรรมสำหรับลูกหลานที่เกิดบนยานหรือไม่ ในการที่พวกเขาจะต้องดำเนินภารกิจที่พ่อแม่หรือบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นผู้ริเริ่ม โดยไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือก” นี่คือคำถามที่คงจะหาคำตอบได้อย่างไม่ง่ายนัก

เมื่อมองจากหลาย ๆ ด้าน ไม่จำเป็นต้องไปดวงดาวอันไกลโพ้นอย่างหนังเรื่อง Prometheus เพราะแค่ระบบดาวที่ใกล้ที่สุดก็ยังเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน ความก้าวหน้าสำหรับส่งมนุษย์เดินทางออกไปนอกระบบสุริยะคงต้องพึ่งเทคโนโลยี hypersleep เพื่อช่วยลดปัญหาทางสังคมของลูกเรือในการใช้ชีวิตบนยาน โดยยืดเวลาชีวิตของพวกเขาให้ยืนยาวขึ้น และปล่อยให้นักเดินทางหลับใหลอยู่ใน capsule อวกาศระหว่างการเดินทางอันเนิ่นนานระดับปีแสง คงต้องรอดูต่อไปว่ามนุษย์จะสามารถพัฒนาสิ่งที่เอื้อต่อการสำรวจอวกาศเหมือนอย่างใน Prometheus ได้เร็วแค่ไหน


อ้างอิง:

7 ความคิดเห็น:

  1. ไปดูมาแล้วเหมือนกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวแล้วกับ phrase ด้านล่างนี้

    "แต่สำหรับ Elizabeth Shaw นางเอกของเรื่อง เธอต้องการมาพบผู้สร้างด้วยแรงผลักดันของความเป็นนักวิทยาศาสตร์ล้วน ๆ"
    ผมไม่คิดว่าเป็นแรงผลักดันของความเป็นวิทยาศาสตร์ล้วนๆ นะ แต่มีแรงผลักดันทางศาสนาเข้าไปด้วย เหมือนกับว่าเธอว์ต้องการจะเดินทางไปเพื่อพบพระผู้เป็นเจ้า (ดูจากภาพในอดีตของ Shaw กับพ่อ, การยึดจิตใจไว้กับกางเขน - แสดงถึงความเชื่อทางศาสนา) แต่สำหรับ Shaw แล้ว เธอใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวสนับสนุนความเชื่อของเธอ

    ตอบลบ
  2. น่าสนใจครับ ตีความแบบนี้น่าจะเข้าท่ากว่า งั้นขอ edit เนื้อหาไปนิดนึงแล้วกัน ^^ 

    ตอบลบ
  3. เนื้อหาหลายช่วงเป็นการวิเคราะห์หนัง เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป มีอะไรก็มา share กันได้นะครับ

    ตอบลบ
  4. อ้างอิงทฤษฎีจนเห็นผานความยากทางปฏิบัติ
    แต่ถ้าเรื่องปรัชญาในหนังแล้ว น่าจะเป็นผลบังเกิดที่ง่าย
    แต่หาข้อสรุปได้ยากกว่า

    ตอบลบ
  5. ควรจะเป็นความเร็วที่ใช้เดินทางมากกว่า.........ถ้าเร็วเท่าแสงหรือ 10- 300 เท่าแสง การเดินทาง 1 ปีแสงก็ใช้เวลาไม่นาน

    ตอบลบ
  6. ปัญหาเรื่องความเร็วก็คือตามทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ ไม่มีอะไรเดินทางได้เร็วกว่าแสง ดังนั้นความเร็วสูงสุดที่จะเป็นไปได้ของยานคือ 300,000 km/s ถ้าเรายึดตามทฤษฎีของไอน์สไตน์... ระยะทาง 39 ปีแสง ก็ต้องใช้เวลาเดินทางขั้นต่ำ 39 ปี (รึป่าว?)  

    ตอบลบ