"การผ่าตัด" บนอวกาศ

อุปกรณ์ AISS สำหรับช่วยในการผ่าตัดภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงที่น้อยมาก (Bill Wade/Post-Gazette)
ปัจจุบันหากใครสักคนเกิดอุบัติเหตุบนอวกาศจนถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน วิธีเดียวที่ทำได้คือส่งผู้ป่วยกลับมารักษาบนโลก ซึ่งนอกจากผู้ป่วยต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตระหว่างทางแล้ว การขนย้ายผู้ป่วยลงมาบนโลกยังต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่สูงมากด้วย 

แต่หากจะให้แพทย์ลงมือผ่าตัดบนอวกาศก็เป็นเรื่องที่หนักหนาเช่นกัน ภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงน้อยมากจนเข้าใกล้ศูนย์ ทั้งเลือดและของเหลวต่าง ๆ ในร่างกายจะไม่จับตัวและหยดลงสู่พื้นในรูปแบบที่เราคุ้นเคยกัน ดังนั้นการผ่าตัดในอวกาศแต่ละครั้งอาจหมายถึงการที่ทั้งพื้น ผนัง และเพดานห้องต้องเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทีมนักวิจัยชาวอเมริกันได้พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ Aquesous Immersion Surgical System (AISS) โดย AISS มีลักษณะเป็นกล่องโปร่งใสซึ่งเมื่อวางครอบลงบนบาดแผลจะสามารถสร้างผนึกกันน้ำเข้า-ออกได้ และสามารถสูบฉีดสารละลายน้ำเกลือปลอดเชื้อซึ่งภายใต้ความดันของ AISS สารละลายดังกล่าวจะช่วยยับยั้งเลือดไม่ให้ไหลนองออกจากบาดแผล หลังจากนั้นการผ่าตัดจะดำเนินไปโดยอาศัยช่องกันอากาศเข้า-ออกบริเวณข้างกล่อง   

ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังเริ่มต้นทดลองใช้อุปกรณ์ดังกล่าวบนเครื่องบิน C-9 ของ NASA ซึ่งสามารถจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงใกล้ศูนย์ได้ บนนั้นพวกเขาจะผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจเทียมซึ่งเต็มไปด้วยเลือดปลอมเพื่อดูว่า AISS สามารถควบคุมให้เลือดยังอยู่ในร่างกายเทียมโดยไม่ล่องลอยออกมาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดจริงในอวกาศไม่จำเป็นที่แพทย์ต้องอยู่บนอวกาศเสมอไป เพราะสามารถทำได้จากบนโลกด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณผ่านหุ่นยนต์บังคับระยะไกล 

หากการทดลองประสบความสำเร็จ AISS จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในอวกาศได้นานขึ้น การอาศัยอยู่บนสถานอวกาศนานาชาติจากเดิม 6 เดือนอาจเพิ่มเป็น 1 ปี และทำให้การออกเดินทางสู่ดินแดนอันห่างไกล เช่น ดาวอังคาร มีความเป็นไปได้มากขึ้น

เรียบเรียงจาก: 
  • "Space Surgery has lift-off, thanks to zero-gravity tool", New Scientist, 29 September 2012 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น