ประวัติย่อของ 'อาหารอวกาศ'


แม้ว่าปัจจุบันอาหารอวกาศกับอาหารบนโลกมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ข้อแตกต่างประการสำคัญอยู่ที่การออกแบบภาชนะบรรจุ อาหารอวกาศจะต้องถูกบรรจุอย่างดีเพื่อไม่ให้ล่องลอยไปมาภายใต้สภาพแรงโน้มถ่วงที่น้อยมาก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผงวงจร หรืออุดตันช่องเปิดเล็ก ๆ บนยานได้ เครื่องดื่มเช่นชาและกาแฟ หรือแม้แต่อาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำจำเป็นต้องถูกทำให้แห้ง (dehydrate) หรือทำให้เป็นผงก่อนที่จะนำขึ้นไปบนอวกาศ เมื่อถึงเวลารับประทานจึงค่อยเติมน้ำเพื่อคืนสภาพเดิม (rehydrate) แต่กว่าอาหารอวกาศจะถูกพัฒนามาถึงวันนี้ เราลองมาดูเรื่องราววิวัฒนาการของอาหารอวกาศตั้งแต่ยุคแรกเริ่มกัน...

ตัวอย่างอาหารอวกาศโครงการ Mercury และ Gemini ยุคปี 1961-1966
(ภาพจาก camilla-corona-sdo.blogspot.com)
ในยุคแรกนักบินอวกาศไม่จำเป็นต้องพกอาหารติดตัวระหว่างปฏิบัติภารกิจเพราะต้องอยู่ในอวกาศเพียงไม่กี่นาที อย่างไรก็ตามช่วงต้นทศวรรษของปี 1960 นักบินอวกาศ John Glenn และลูกเรือภายใต้ Mercury Project [1] ถูกมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจที่ยาวนานขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการคิดค้นอาหารสำหรับรับประทานในอวกาศ โดยอาหารอวกาศยุคแรกจะมีลักษณะกึ่งของเหลวบรรจุอยู่ในภาชนะคล้ายหลอดยาสีฟัน นักบินอวกาศจะต้องบีบหลอดยาสีฟันนั้นและดูดอาหารผ่านหลอดดูด อาหารอวกาศอีกรูปแบบหนึ่งของยุคนี้คืออาหารที่ถูกทำให้แห้งและบีบอัดจนเป็นทรงลูกบาศก์ขนาดเหมาะกับการกินเป็นก้อน ๆ ซึ่งตัวอาหารจะคืนสภาพโดยน้ำลายภายในปากของมนุษย์อวกาศนั่นเอง

ปี 1965 ภายใต้ภารกิจ Gemini มนุษย์อวกาศมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับสิ่งที่พวกเขาจะรับประทาน เช่น ค๊อกเทลกุ้ง ไก่งวงชิ้น ครีมซุปไก่ และพุดดิ้งเนย ซึ่งล้วนถูกปรุงให้สุกและแช่แข็งอย่างรวดเร็วบนโลก หลังจากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการทำให้แห้งด้วยการแยกน้ำออกจากอาหารภายในห้องสุญญากาศ เมื่อถึงเวลารับประทานมนุษย์อวกาศจะใช้ปืนฉีดน้ำเพื่อฉีดน้ำคืนสภาพให้กับอาหารดังกล่าว

ตัวอย่างอาหารอวกาศโครงการ Apollo ยุคปี 1968-1972
(ภาพจาก camilla-corona-sdo.blogspot.com)
ปี 1969 องค์การนาซ่า (NASA) ได้ส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายใต้โครงการ Apollo โดยได้มีการจัดเตรียมน้ำร้อนไว้บนยาน ทำให้การคืนสภาพอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น มนุษย์อวกาศโครงการ Apollo ยังเป็นมนุษย์อวกาศกลุ่มแรกที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกใช้รับประทานอาหาร เช่น spoon bowl หรือชุดภาชนะพลาสติกสำหรับใส่อาหารแห้งพร้อมช้อน โดยหลังจากอาหารแห้งภายใน spoon bowl ถูกคืนสภาพด้วยน้ำ ความเปียกของอาหารจะช่วยยึดอาหารนั้นเข้ากับช้อนไม่ให้ล่องลอยออกไป อาหารใน spoon bowl จึงสามารถรับประทานด้วยช้อนได้เลยเมื่อถูกเปิด นอกจากนี้พวกเขายังมีอุปกรณ์ wet packs (ถุงพลาสติกหรืออลูมิเนียมฟอยล์ประสิทธิภาพสูง) ที่สามารถกักเก็บความชื้นได้ดี อาหารภายใน wet packs จึงไม่จำเป็นต้องถูกคืนสภาพก่อนรับประทาน เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับมนุษย์อวกาศ ตัวอย่างเมนูอาหารของภารกิจ Apollo ประกอบด้วย เบคอน แซนวิชเนื้อ พุดดิ้งช็อกโกเลต สลัดทูน่า และเค้กผลไม้ เป็นต้น

ตัวอย่างอาหารอวกาศโครงการ Skylab ยุคปี 1973-1974
(ภาพจาก camilla-corona-sdo.blogspot.com)
ปี 1973 วิธีการรับประทานอาหารในอวกาศดูคล้ายบนโลกมากขึ้น ภายใต้ภารกิจ Skylab [2] มนุษย์อวกาศมีห้องอาหารขนาดใหญ่พร้อมด้วยโต๊ะสำหรับนั่งรับประทาน นอกจากนี้ Skylab ยังมีตู้เย็นที่ทันสมัยซึ่งแม้แต่กระสวยอวกาศยุคใหม่ก็ยังไม่มี อาหารของ Skylab จึงมีความหลากหลายมากถึง 72 เมนู แถมในยานยังมีถาดให้ความร้อนไว้อุ่นอาหารก่อนรับประทานด้วย

อาหารอวกาศยุคใหม่  (ภาพจาก NASA) 
ต้นทศวรรษของปี 1980 เมื่อกระสวยอวกาศลำแรกทะยานขึ้นจากผิวโลก อาหารอวกาศถูกพัฒนาจนแทบจะไม่ต่างจากอาหารบนโลก มนุษย์อวกาศสามารถเลือกออกแบบเมนูอาหารของตนเองตลอด 7 วันใน 1 สัปดาห์จากอาหารทั้งหมด 74 ชนิดและเครื่องดื่มอีก 20 ชนิด พวกเขาสามารถเตรียมอาหารแต่ละมื้อในห้องครัวของยานที่มีทั้งก๊อกน้ำและเตาอบ และในปี 2006 เมื่อกระสวยอวกาศดดิสคัฟเวอร์รี่ถูกปล่อยขึ้นฟ้า นับเป็นจุดเปลี่ยนของอาหารอวกาศยุคใหม่อย่างชัดเจน เมื่อมีพ่อครัวชื่อดังอย่าง Emeril Lagasse มาช่วยออกแบบเมนูอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศ เป็นการเพิ่มรสชาติและสีสันของอาหารอวกาศให้ใกล้เคียงกับอาหารบนโลก

เครื่องดื่มอวกาศยุคใหม่ในสภาพของเหลว (ภาพจาก http://www.spacekids.co.uk/spacefood/)
นอกจากนี้เครื่องดื่มอวกาศยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมนุษย์อวกาศสามารถดื่มน้ำอัดลมสภาพของเหลวที่ถูกบรรจุในกระป๋องควบคุมความดันได้อีกด้วย (ไม่ต้องคืนสภาพให้น้ำอัดลมก่อนดื่ม)

[1]  Mercury Project เป็นโครงการทดสอบการบินอวกาศในยุคแรก
[2]  Skylab เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐฯ


เรียบเรียงจาก:
http://science.howstuffworks.com/space-food.htm
http://camilla-corona-sdo.blogspot.com/2010/09/astro-munchies-its-out-of-this-world.html
http://www.spacekids.co.uk/spacefood/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น