MESSENGER ยืนยัน ขั้วเหนือของดาวพุธมี "น้ำแข็ง"

รูปที่ 1: บริเวณขั้วเหนือของดาวพุธที่มืดมิดตลอดเวลาเพราะไม่มีแสงสว่างส่องไปถึง
ดาวพุธ (Mercury) เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด กลางวันบนดาวพุธจึงร้อนจัด แต่กลางคืนจะหนาวจัดเพราะชั้นบรรยากาศเบาบางเสียจนไม่สามารถกักเก็บความร้อนจากช่วงกลางวันได้ ดาวพุธจะเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์โดยมีแกนหมุนตั้งฉากกับระนาบการโคจร ทำให้บริเวณขั้วเหนือของดาวพุธไม่มีโอกาสได้รับแสงสว่างเลย หรือมืดมิดอยู่ตลอดเวลานั่นเอง (รูปที่ 1 และ 2)

รูปที่ 2: ภาพแสดงแกนหมุนของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ (credit: Calvin J. Hamilton)  





เมื่อเร็ว ๆ นี้นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีตรวจจับนิวตรอนเพื่อสำรวจขั้วเหนือของดาวพุธ โดยอาศัยอุปกรณ์ Neutron Spectrometer ที่ติดตั้งบนยาน MESSENGER [1] เมื่อนิวตรอนชนกับอะตอมของไฮโดรเจน นิวตรอนจะชะลอความเร็ว (หรือหยุดเคลื่อนที่) มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เคลื่อนที่ต่อไปได้ ดังนั้นการลดลงของปริมาณนิวตรอนที่ตรวจจับได้เมื่อยาน MESSENGER อยู่เหนือบริเวณขั้วเหนือเป็นตัวบ่งบอกว่าบริเวณนั้นมีปริมาณไฮโดรเจนสูง ซึ่งอาจจับตัวอยู่ในรูปของน้ำ

อีกวิธีหนึ่งคือการวิเคราะห์ผลทางอ้อมด้วยการยิงคลื่นแสงเลเซอร์จากยาน MESSENGER เพื่อสังเกตการสะท้อน โดยพบว่าลักษณะการสะท้อนของพื้นผิวขั้วเหนือดาวพุธสอดคล้องกับการสะท้อนอันเนื่องมาจากน้ำแข็ง นอกจากนี้แบบจำลองด้านความร้อนซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยยาน MESSENGER ยังแสดงให้เห็นว่าบริเวณเงามืดดังกล่าวจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 50 เคลวินอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักฐานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจะต้องมีน้ำแข็งตรงขั้วเหนือของดาวพุธ

[1] ยาน MESSENGER เดินทางไปถึงดาวพุธเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 เป็นยานอวกาศลำแรก                    
     ที่โคจรรอบดาวพุธ

เรียบเรียงจาก: All About Space (No. 008)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น