Curiosity ถึงที่หมาย... พร้อมส่งภาพสีใบแรก

“ยินดีต้อนรับสู่ดาวอังคาร” Charles Elachi ผู้อำนวยการ Jet Propulsion Laboratory (JPL) กล่าว “ค่ำคืนนี้เป็นคืนเฉลิมฉลอง การลงจอดสำเร็จลุล่วงด้วยดี พรุ่งนี้พวกเราจะเริ่มต้นสำรวจดาวอังคารกันและเริ่มต้นค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆ วัน”
ภาพสีใบแรกของดาวอังคารที่ถ่ายโดย Curiosity ( NASA/JPL-Caltech/Malin Space Science Systems)
วันนี้ Curiosity ได้ส่งภาพสีใบแรกจากดาวอังคารกลับมาให้คนบนโลกได้ยลโฉมกัน ภาพ ๆ นี้ถ่ายตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2555 ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น Sol 1 หรือ วันที่ 1 ของภารกิจสำรวจดาวอังคารของ Curiosity ภาพดังกล่าวถูกถ่ายด้วย Mars Hand Lens Imager (MAHLI) ซึ่งติดอยู่ที่ตัว Curiosity และพึ่งจะถูกเผยแพร่ในวันที่ 7 สิงหาคม 2555 เป็นภาพของบริเวณ Gale Crater หรือบริเวณที่ Curiosity ลงจอด  

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เราลองมาดูเหตุการณ์สำคัญและน่าตื่นเต้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมากัน...

วันที่ 5 สิงหาคมตามเวลา PDT (ช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม ตามเวลา EDT) Curiosity หรือห้องทดลองเคลื่อนที่สำหรับวิเคราะห์ดาวอังคาร: Mars Science Laboratory (MSL) ได้แตะพื้นดาวอังคารเป็นผลสำเร็จ การเดินทางจากบ้านเกิดกว่า 352 ล้านไมล์ (567 ล้านกิโลเมตร) เพื่อไปยังโลกใบใหม่ได้สิ้นสุดลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตลอดการรอคอยกว่า 8 เดือน ช่วงที่สำคัญสุดคงเป็น 7 นาทีของการหย่อนตัวลงจอด ด้วยน้ำหนักที่มากถึงประมาณ 1 ตัน Curiosity ซึ่งถูกบรรจุอยู่ใน capsule จำต้องอาศัย sky crane ช่วยพยุงตัวมันเองฝ่าชั้นบรรยากาศดาวอังคารลงสู่เบื้องล่าง การลงจอดด้วยวิธีนี้ไม่เคยมีมาก่อน ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบินอวกาศ ทำให้ 7 นาทีดังกล่าวเป็นช่วงเวลาตัดสินชะตาหรือ “Live or Die” ที่ใครหลาย ๆ คนคงลุ้นระทึก คลิปวีดีโอที่ 1 เป็น trailer บรรยากาศในห้องควบคุม JPL ขณะติดตามการลงจอดของ Curiosity 

คลิปวิดีโอที่ 1:   trailer บรรยากาศในห้องควบคุม JPL ขณะติดตามการลงจอดของ Curiosity

การลงจอดอย่างแม่นยำนอกจากจะเป็นเรื่องยากแล้ว เพื่อให้สามารถติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทีมนักวิทยาศาสตร์ JPL ยังต้องอาศัยการเชื่อมโยงอย่างพอเหมาะพอดีกับยานสำรวจอีก 2 ลำก่อนหน้านี้ คือ Mars Odyssey orbiter (ODY) และ Mars Reconnaissance Orbiter (MRO) ซึ่ง Curiosity จะส่งคลื่นวิทยุโดยตรงกลับมายังโลก ส่วน ODY และ MRO จะคอยช่วยเป็นประจักษ์พยานระหว่างการลงจอด ทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับ-ส่งสัญญาณวิทยุที่ซับซ้อนขึ้นจาก Curiosity เพื่อบอกเล่าเรื่องราว 7 นาที “Live or Die” ให้กับทีมผู้ติดตามของ JPL บนโลก (คลิปวิดีโอที่ 2) 

แน่นอนว่า 7 นาทีอันน่าวิตกได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว Curiosity หรือ MSL เข้าสู่ชั้นบรรยากาศดาวอังคารเมื่อเวลา 1 AM EDT วันที่ 6 สิงหาคม 2555 ด้วยความเร็วสูงกว่า 5.9 km/s และแตะพื้นดาวอังคารใน 7 นาทีต่อมาตรงบริเวณ Gale Crater ใกล้กับภูเขาที่มีชื่อว่า Mount Sharp จากความสำเร็จในครั้งนี้เราคงได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายเกี่ยวกับโลกใบใหม่ 

     คลิปวิดีโอที่ 2:   ภาพจำลองการเชื่อมโยงอย่างประจวบเหมาะของยานสำรวจดาวอังคารแต่ละลำขณะ Curiosity (MSL) ลงจอด  

รูปที่ 1: การลงจอดของ Curiosity ใน 7 นาที (ภาพจาก NASA)
ภายใต้ภารกิจหลัก 2 ปี หุ่นสำรวจ Curiosity หรือ MSL จะทำการค้นหา “สัญญาณ” สิ่งมีชีวิตขั้นพื้นฐาน Curiosity จะทะยานผ่านพื้นผิวขรุขระเพื่อค้นหาหลักฐานการมีอยู่ของ phyllosilicates และ sulfates บนพื้นทรายสีแดง Curiosity จะปีนขึ้นเหนือยอดเขาเช่น Mount Sharp ซึ่งเป็นเป็นแหล่งเก็บหลักฐานทางธรณีวิทยาของดาวอังคารตั้งแต่เมื่อ 100 – 1,000 ล้านปีที่แล้ว เพื่อวิเคราะห์ผลด้วยห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่พรั่งพร้อมอยู่ในตัวของมันเอง 

จากวันนี้เป็นต้นไปการสื่อสารระหว่าง Curiosity กับโลกมีอยู่ 3 ช่องทางดังรูปที่ 2 คือ
  1. Curiosity --- โลก 
  2. Curiosity --- MRO --- โลก 
  3. Curiosity --- ODY --- โลก 
รูปที่ 2: วิธีการสื่อสารระหว่าง Curiosity กับโลก (ภาพจาก NASA)
ภารกิจครั้งนี้จึงอาศัยการทำงานร่วมกันของสิ่งประดิษฐ์น่าอัศจรรย์ของมนุษย์ 3 ชิ้นหลัก ประกอบด้วย Curiosity, MRO และ ODY แต่เนื่องจากปัจจัยด้านระยะห่างของดาวอังคารกับโลก การส่งข้อมูลระหว่างดาวเคราะห์ทั้ง 2 จึงล่าช้าประมาณ 14 นาที 

รูปที่ 3 เป็นตัวอย่างภาพถ่ายชุดแรกหรือของขวัญชิ้นแรกจาก Curiosity เป็นภาพที่ถูกถ่ายด้วยเลนส์ fisheye มุมกว้าง ภาพแรก ๆ ที่เราเห็นอาจยังมีความละเอียดต่ำ เพราะ Curiosity ต้องใช้เวลาในการปรับโฟกัสดวงตาของมัน เสมือนคนที่กำลังพยายามปรับตัวเข้ากับดินแดนแห่งใหม่ ภาพถ่ายความละเอียดสูงจะถูกทยอยส่งกลับมายังโลกในวันถัด ๆ ไป รวมถึงภาพถ่ายใบแรกของดาวอังคารในรูปแบบ panorama 360 องศาอีกด้วย 

 รูปที่ 3: ตัวอย่างภาพถ่ายชุดแรกโดย Curiosity  ซึ่งต่อมา 
John Grotzinger ให้ความเห็นว่านี่คือภาพอาทิตย์ตกดินที่งดงามบนดาวอังคาร
“Today on Mars, history was made on Earth” John Holdren ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ Obama ได้กล่าวไว้ “การลงจอดของ Curiosity คือความท้าทายขั้นสูงสุดเท่าที่เคยมีมาของทุกการสำรวจโดยใช้หุ่นยนต์” ขณะที่ Charles Bolden เจ้าหน้าที่ NASA กล่าวว่า “รอยล้อของ Curiosity บนดาวอังคารจะเป็นตัวแทนของรอยเท้ามนุษย์ Curiosity จะค้นหาคำตอบว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่ และดาวอังคารจะเป็นโลกใบที่สองได้หรือไม่” คำถามเหล่านี้อยู่ในใจมนุษย์ตั้งแต่อดีตเรื่อยมา และมันจะถูกตอบโดยคนรุ่นเรา

John Grotzinger นักวิทยาศาสตร์โครงการ MSL จาก California Institute of Technology ได้กล่าวชื่นชมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เขาบอกว่าไม่มีสิ่งใดสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนได้ดีไปกว่าการไปดาวอังคาร และมูลค่าของ MSL ต่ออเมริกันชนเป็นมูลค่าในเชิงภาพยนตร์... ภาพยนตร์ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ต้องการจะดู


เรียบเรียงจาก
บทความที่เกี่ยวข้อง

1 ความคิดเห็น:

  1. ชอบคลิปแรกอะ เข้าใจอารมณ์ความสำเร็จในการทำแลปเลย

    ตอบลบ